ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ จำนวน 354.36 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2556 ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากที่สุดในขณะนั้น จำนวน 318.67 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยเฉพาะภาคพลังงาน และขนส่ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด จำนวน 253.89 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภาคเกษตร 52.16 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และภาคการจัดการของเสีย 16.77 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเมื่อรวมส่วนที่เกิดจากแหล่งปล่อยและหักลบด้วยส่วนที่ดูดกลับแล้ว พบว่า มีปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิทั้งหมด 263.22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (สำนักงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2565) ในขณะเดียวกัน เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากขึ้น World Travel and Tourism Council รายงานว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8 ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซโดยกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 934 ล้านคน เป็น 1,468 ล้านคน ต่อปี เมื่อพิจารณาข้อมูลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในภาพรวมของประเทศไทยนั้น ถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศ ซึ่งในแต่ละปี ปริมาณก๊าซ เรือนกระจกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง เร่งหาแนวทางในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการจัดการของเสียที่มี การจัดการขยะชุมชนเป็นส่วนสำคัญ และภาคการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามเจตนารมณ์ที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้
จากข้อมูลของเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ พบว่า เทศบาลประสบปัญหาในด้านการบริหารจัดการขยะ มูลฝอย เนื่องจากเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ทำหน้าที่รวบรวมขยะมูลฝอยทั้งหมดในพื้นที่ไปกำจัด ณ. พื้นที่รองรับขยะขนาดใหญ่ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชโดยวิธีเทกองขยะนำไปกำจัด โดยไม่คัดแยก ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เทศบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้างที่ไม่สามารถนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจาก ก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในขยะมูลฝอยแบบไม่ใช้ออกซิเจน ถือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ โดยพบว่า วิธีการกำจัดขยะมูลฝอยโดยการเทกองและการฝังกลบ ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนมากเป็นอันดับที่สามของการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่เกิดจาก ภาคการจัดการขยะมูลฝอย ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ก๊าซไนตรัสออกไซต์ ซึ่งเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในเครื่องจักรที่ใช้ในการรวบรวม การคัดแยกและการขนส่งขยะมูลฝอย และประชาชนในพื้นที่ ขาดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พิจารณาได้จากกที่ผ่านมาเทศบาล ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะ หรือไม่มีการทำโครงการด้านขยะเลย
ในขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ขาดรายได้ ขาดอาชีพเสริม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพ มีรายได้ตามฤดูกาล ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอ ทั้งที่พื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว หลายด้าน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวประเภทวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณี แต่ยังไม่สามารถพัฒนาให้เป็นที่สนใจและจุดเด่นเพื่อนำมาซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเข้ามา และนำมาซึ่งรายได้ให้แก่ คนในชุมชน ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากขึ้น รูปแบบการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว ซึ่งรูปแบบ “การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism)” ถือเป็นรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญและสนใจมากขึ้น โดยสามารถออกแบบกิจกรรมที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิง เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการต่างๆ ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมถึงลดการใช้วัสดุเพื่อลดปริมาณขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน สู่ชั้นบรรยากาศกระบวนการต่างๆ ในการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ และจากนั้นก็ชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เหลือปล่อยที่ออกมาจากกิจกรรมท่องเที่ยวในเส้นทางต่างๆ โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER มาชดเชย เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดความสมดุลกับค่าการลดคาร์บอนและเท่ากับศูนย์ หรือ Carbon Neutral ซึ่งนำมาซึ่ง การท่องเที่ยว ที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Carbon Neutral Tourism ทั้งนี้ หากเทศบาลตำบลถ้ำใหญ่ สามารถพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบสามารถจัดทำแคมเปญต้นแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนได้ในพื้นที่เทศบาล นอกจากจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมแล้วยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชนได้อีกด้วย
ดังนั้น โครงการจึงนำเสนอแผนงานการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะแผนงานการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โครงการต้องการให้เกิดการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นตัวอย่างหรือแนวทางนำร่องไปสู่การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช และการบริหารจัดการขยะจากต้นทางโดยชุมชนมีส่วนร่วม กิจกรรมถังขยะเปียกลดโลกร้อนของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจะลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถนำ Carbon Credit จากการจัดการขยะจากกิจกรรมไปชดเชยให้กับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนสู่ Low Carbon Society เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบและศูนย์เรียนรู้ชุมชนคาร์บอนต่ำต่อไป สมาคมพัฒนาองค์กรชุมชนเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน เยาวชน สถานศึกษา องค์กรด้านศาสนา ตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงมีความต้องการจัดทำ “โครงการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนโดยชุมชนมีส่วนร่วม พื้นที่ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆของประชาชนในพื้นที่ตำบลถ้ำใหญ่ ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนในพื้นที่พร้อมรองรับ พร้อมปรับตัว ลดความเปราะบางจากผลกระทบความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาหลักของภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกและประเทศไทย